เดี๋ยวนี้คนกรุงฯ หรือ คนภูธร แทบไม่ต่างกันในแง่ของการเข้าถึงสื่อดิจิทัลรูปแบบใหม่ๆ เพราะทุกคนมีสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อ 4G เข้าถึงอินเทอร์เน็ต สามารถเช็กโซเชียล เลือกดูวิดีโอที่สนใจ ฟังเพลงผ่าน YouTube เหมือนๆ กัน
แต่ในแง่ของพฤติกรรม ความชอบ รวมถึงการเลือกรับชมคอนเทนต์ “ยังมีความเหมือนที่แตกต่าง” ทำให้การวางกลยุทธ์เดียว หรือทำคอนเทนต์เดียวเเล้วยิงกราดไปในทุกช่องทางอาจไม่ใช่วิธีที่เวิร์กอีกต่อไป
ในบทความนี้จึงอยากพามารู้จักกลยุทธ์ 3C จาก แจ่มจรัส ดิจิทัลเอเจนซีที่หายใจเข้า-ออก เป็นต่างจังหวัด รวมความสำเร็จในปีที่ผ่านมาตามเเบบฉบับ Phutorn Marketing
Content: ต้องเริ่มเล่าจาก คาแรกเตอร์ ด้วยพื้นฐานคนไทยที่เป็นคนสนุกสนานร่าเริงไปที่ไหนก็ต้องมีเสียงดนตรี รวมถึงในลูกค้าต่างจังหวัดยังมีเพลงเฉพาะถิ่น จนบางครั้งก็ดังจนติดหูคนทั้งประเทศอยู่บ่อยๆ
ดังนั้น การทำโฆษณาในรูปแบบของ Music Marketing จึงถือเป็นหนึ่งในไม้ตายที่ใช้เจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างเห็นผล
แต่ก็ใช่ว่าจะทำเพลงอะไรออกมาก็ดัง เพราะอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ คือเนื้อหา (Content) ยังต้องสะกิดใจและสอดคล้องไปกับมุมมองในการใช้ชีวิตอีกด้วย
ในมุมมองของ แจ่มจรัส ‘เนื้อหาที่โดนใจลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องไม่ซับซ้อน’
หากหยิบเรื่องของการทำงาน คนต่างจังหวัดอาจเครียดเรื่องพืชผลการเกษตร ลมฟ้าอากาศไม่ดี ไม่เป็นดังหวัง ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ซับซ้อนเท่าคนเมืองที่ต้องเจอกับเรื่องการเมืองในที่ทำงาน หัวหน้า ลูกน้อง
หรืออย่างเรื่องความรัก คนต่างจังหวัดรักใครก็ชัดเจน ผิดหวังก็ร้องไห้ แอบรักก็อยากทำให้เขามาสนใจ แสดงออกมาตรงๆ ดังนั้น เนื้อหาต่างๆ ที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงต้องไม่ซับซ้อน จริงใจ พูดตรงไปตรงมา และทำให้รู้สึกสนุกสนาน
อย่างเช่นผลงาน นีเวีย C&E “ได้ใจอ้ายใน 7 วัน” ที่ได้นักร้องลูกทุ่งสาวแห่งยุค “ลำไย ไหทองคำ” มาร้องนำเสนอไปพร้อมกับมิวสิกวิดีโอที่ว่าด้วยเรื่องของ ผู้สาวแอบชอบผู้บ่าว จึงค่อยๆ ทำให้ตัวเองสวยขึ้น แต่เรื่องราวไม่ได้จบแค่นั้นยังมีจุดพลิกเป็นกิมมิกไว้ท้ายเรื่อง ซึ่งสามารถโกยยอดวิวหลายล้านวิวเเบบออแกนิกส์ตั้งเเต่ปล่อยเพลงนี้ออกไปได้ไม่นาน
หรือจะเป็นแคมเปญจาก แลคตาซอย ที่เอาเพลงฮิตติดหูจังหวะสนุกๆ อย่าง ห่อหมกฮวกเอาไปฝากป้า มาเปลี่ยนเป็น ห่อแลคตาซอยเอาไปฝากป้า ร้องโดย เต๊ะ ตระกูลตอ เจ้าของผลงาน
Channel: ตามที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนให้ช่องทางการเข้าถึงไร้พรมแดนแล้วก็จริง ซึ่งเมื่อก่อนอาจต้องพึ่งเพียงสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือวิทยุบางสถานี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะคนกรุงหรือคนภูธรก็เสพคอนเทนต์ต่างๆ ผ่าน YouTube, Facebook, VDO รวมถึงใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเหมือนกัน
“จากข้อมูลยังระบุอีกว่าคนต่างจังหวัดใช้ YouTube ในการรับชมความบันเทิง รวมถึงฟังเพลง เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วมากกว่าคนเมืองด้วยซ้ำ ช่องทางออนไลน์จึงช่วยพาให้มิวสิกคอนเทนต์ที่เน้นไปทางสนุกสนาน ไปได้ไกลยิ่งกว่าเดิม”
นอกจากนั้น ในความหมายของคำว่า Channel ไม่ใช่เพียงแค่ช่องทางในการนำเสนอผลงาน ไม่ใช่แค่การแบ่งภาค แบ่งจังหวัด แต่ยังส่งผลต่อการดีไซน์คอนเทนต์ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น ผลงาน แลคตาซอย “หรอยแรง” ที่เลือกใช้วงพัทลุง พาราฮัท ได้ใจทั้งเด็กใต้ รวมถึงสไตล์คนสู้ชีวิตมีแรงออกไปทำงาน ออกไปเลี้ยงวัว
Context: ถ้า Content is King คำว่า Context หรือวางบริบทที่เหมาะสมถูกที่ถูกเวลาให้กับคอนเทนต์ และแคมเปญของเราก็สมควรที่จะได้รับตำแหน่ง Queen ไป
เพราะแน่นอนว่าต่อให้ Music Marketing มิวสิกวิดีโอที่ปล่อยออกไปดังจนโกยยอดวิวเป็นร้อยล้าน แต่ไม่มีกิจกรรมทางการตลาดอื่นๆ เสริมเพื่อให้เกิดสัญญาณในการซื้อสินค้า ไปจนถึงขั้นการตัดสินใจซื้อได้ก็คงไม่มีประโยชน์
“ด้วยความที่แจ่มจรัสเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคตลาดต่างจังหวัดในทุกก้าวย่าง จึงต้องทำการสื่อสารและวางแผนการตลาดแบบ 360 องศา ทั้งทางสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ และอีเวนต์ต่างๆ ออนกราวด์ เช่น การแจกสินค้าทดลองใช้ในคอนเสิร์ตต่างๆ”
หรืออย่างผลงานเพลง ออเดอร์ส่งรัก จากทาง GrabFood ที่ได้ 3 ศิลปิน ลำเพลิน วงศกร, คะแนน นัจนันท์ เเละ เต๊ะ ตระกูลตอ มาเปลี่ยนวิธีใช้เเอพสั่งอาหารเป็นเพลงที่ร้องตามได้ เเทรกวิธีการใช้การสั่ง GrabFood ผสมผสานเรื่องราวความรักกุ๊กกิ๊กของหนุ่มสาวซึ่งเป็นเรื่องราวที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ได้ง่าย
สรุป
การเจาะตลาดภูธร หรือตลาดต่างจังหวัด ในมุมของ “แจ่มจรัส” ในเครือ YDM Thailand จะเน้นไปที่การเข้าใจอินไซต์ของตลาดภูธรอย่างแท้จริง บวกเข้ากับความรู้ในการผลิตคอนเทนต์ และเครื่องมือบวกช่องทางดิจิทัล รวมถึงการใช้ Influencer Marketing จากทีมอินฟลูเอนเซอร์ภูธรที่มีชื่อเสียงในสังกัดกว่า 200 คน เพื่อช่วยในการเจาะตลาดภูธรให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นเอง